วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย

ประเพณีไทย
ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเพณี [1]
ประเพณีออกพรรษา
หากพูดถึงวันออกพรรษานั้นแล้ว หลายท่านคงนึกถึง การทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา ที่วัดใกล้บ้าน และก็คงนึกถึงการตักบาตรเทโว ที่ทุกคนรู้จักในชื่อ วันเทโวโรหณะ หรือรู้จักกันในวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก มีประวัติ ดังนี้คือในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา หรือ 3เดือน ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน และ บันไดทอง และ บันไดแก้ว ซึ่งสักกเทวราช หรือพระอินทร์ ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ ประตูเมืองสังกัสนคร บรรดาพุทธศาสนิกชนพอทราบข่าวต่างก็มารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่นชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ ในวัน แรม1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ให้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก “วันเทโวโรหณะ” และ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล หรือนรกภูมิ ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก
ประเพณีเข้าพรรษา
ประวัติวันเข้าพรรษานั้นเริ่มต้นจากเมื่อสมัยพุทธกาลโดยพระพุทธเจ้าเป็นผู้กำหนดขึ้นเนื่องจากมีผู้มาเรียกเรียนว่า พระภิกษุสงฆ์เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่หยุดหย่อนเลยแม้กระทั่งหน้าฝนที่ฝนตกหนัก และน้ำหลาก การเดินทางลำบาก กระทั้งบางครั้งพระสงฆ์เหล่านั้นยังเดินไปเหยียบย่ำพืชผัก หรือผลผลิตที่กำลังเติบโต และกำลังผลิดอกออกผล ได้รับความเสียหาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดให้ฤดูฝนเป็นฤดูสำหรับการหยุดพักการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันแรม 1ค่ำเดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา จนถึงวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11และ เป็นวันออกพรรษา เพื่อพระสงฆ์จะได้หยุดพักจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติและศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม และสั่งสอนลูกศิษย์หรือพระใหม่ที่เพิ่งบวชได้ร่ำเรียนธรรมะอย่างเต็มที่ โดยให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ไม่ไปจำวัดที่อื่นตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เข้าพรรษานั้นแม้แต่คืนเดียว

ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง จังหวัดแพร่
ตำนานเก่าแก่แห่งเมืองมนต์ขลังเล่าว่า อดีตกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพตและได้มอบพระเกศาธาตุให้ขุนลั๊วอ้ายก้อมไปบรรจุในผอบแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ ซึ่งผ้าแพรที่ขุนลั๊วอ้ายก้อมนำมารองรับพระเกศาธาตุนั้นเรียกว่า “ผ้าแฮ” นิยมนำผ้าแฮ หรือผ้าแพรมาประดิษฐ์เป็นช่อ หรือธง แล้วทำการถวายสักการะเป็นพุทธบูชา ต่อมาภายหลังเพี้ยนมาเป็น “ช่อแฮ่” หรือ “ช่อแพร่” โดยครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่ และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐ์ที่นี่ด้วย และหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์จำนวนมากได้ร่วมกันอธิษฐานอันเชิญพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้บรรจุในผอบแก้วที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้แต่เดิม แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป

ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี
ประเพณีวิ่งควาย “ลานกว้าง คือสนามประลองเจ้าแห่งความเร็วของเจ้าทุยเพื่อนรัก สัตว์เลี้ยงคู่ใจชาวนาไทยครั้งอดีต ที่ต่างวางคันไถ ออกจากท้องนาขึ้นมาช่วงชิงชัยชนะในสนามการแข่งขันวิ่งควาย ประเพณีที่สร้างความคึกคักเร้าใจ ได้ทุกช่วงวินาทีที่ผู้บังคับประสานเป็นหนึ่งกับเจ้าทุย ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่ขนาบทั้งซ้ายขวา มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นชัย เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที” ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนกันในตลาด บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ “แสงนวลจากจันทร์วันเพ็ญส่องสว่างค่ำคืนให้รื่นเริงไปพร้อมกับเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ประจำปี ผู้คนจากทั่วสารทิศร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเคารพศรัทธา เสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิต แล้วร่วมแรงร่วมใจแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ อิ่มบุญแล้วยังได้สนุกครึกครื้นไปกับบรรยากาศงานวัด กิจกรรม การประกวด และการละเล่น จึงมากมายรอยยิ้ม ความสุขเช่นทุกๆ ปี” เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ พิธีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานนับร้อยปีของชาวนครปฐม เมื่อวันเวลาผ่านมาถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี องค์พระปฐมเจดีย์มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ดั่งได้เฝ้าอยู่เบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างสิริมงคลแก่ชีวิต ท่ามกลางแสงนวลจากจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญ

แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น